วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ชนิดและหน้าที่ของประโยค


ชนิดและหน้าที่ของประโยค



ชนิดและหน้าที่ของประโยค
     ความหมายของประโยค
     ประโยค เกิดจากคำหลายๆ คำ หรือวลีที่นำมาเรียงต่อกันอย่างเป็นระเบียบให้แต่ละคำมีความสัมพันธ์กัน มีใจความสมบูรณ์ แสดงให้รู้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เช่น สมัครไปโรงเรียน ตำรวจจับคนร้าย เป็นต้น
     ส่วนประกอบของประโยค ประโยคหนึ่ง ๆ จะต้องมีภาคประธานและภาคแสดงเป็นหลัก และอาจมีคำขยายส่วนต่าง ๆ ได้
     1. ภาคประธาน ภาคประธานในประโยค คือ คำหรือกลุ่มคำที่ทำหน้าที่เป็นผู้กระทำ ผู้แสดงซึ่งเป็นส่วนสำคัญของประโยค ภาคประธานนี้ อาจมีบทขยายซึ่งเป็นคำหรือกลุ่มคำมาประกอบ เพื่อทำให้มีใจความชัดเจนยิ่งขึ้น
     2. ภาคแสดง ภาคแสดงในประโยค คือ คำหรือกลุ่มคำที่ประกอบไปด้วยบทกริยา บทกรรมและส่วนเติมเต็ม บทกรรมทำหน้าที่เป็นตัวกระทำหรือตัวแสดงของประธาน ส่วนบทกรรมทำหน้าที่เป็นผู้ถูกกระทำ และส่วนเติมเต็มทำหน้าที่เสริมใจความของประโยคให้สมบูรณ์ คือทำหน้าที่คล้ายบทกรรม แต่ไม่ใช้กรรม เพราะมิได้ถูกกระทำ
     ชนิดของประโยค ประโยคในภาษาไทยแบ่งเป็น 3 ชนิด ตามโครงสร้างการสื่อสารดังนี้
     1. ประโยคความเดียว ประโยคความเดียว คือ ประโยคที่มีข้อความหรือใจความเดียว ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เอกรรถประโยค เป็นประโยคที่มีภาคประโยคเพียงบทเดียว และมีภาคแสดงหรือกริยาสำคัญเพียงบทเดียว หากภาคประธานและภาคแสดงเพิ่มบทขยายเข้าไป ประโยคความเดียวนั้นก็จะเป็นประโยคความเดียวที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น
     2. ประโยคความรวม ประโยคความรวม คือ ประโยคที่รวมเอาโครงสร้างประโยคความเดียวตั้งแต่ 2 ประโยคขึ้นไปเข้าไว้ในประโยคเดียวกัน โดยมีคำเชื่อมหรือสันธานทำหน้าที่เชื่อมประโยคเหล่านั้นเข้าด้วยกัน ประโยคความรวมเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อเนกกรรถประโยค ประโยคความรวมแบ่งใจความออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
          2.1 ประโยคที่มีความคล้อยตามกัน ประโยคความรวมชนิดนี้ประกอบด้วยประโยคเล็กตั้งแต่ 2 ประโยคขึ้นไป มีเนื้อความคล้อยตามกันในแง่ของความเป็นอยู่ เวลา และการกระทำ ตัวอย่าง
               • พี่และน้องกำลังว่ายน้ำอยู่ในสระ
               • พอสุดาหายป่วยก็ไปโรงเรียนทันที
               • แม่เย็บผ้าเสร็จแล้วจึงไปทำอาหารเย็น 
          2.2 ประโยคที่มีความขัดแย้งกัน ประโยคความรวมชนิดนี้ ประกอบด้วยประโยคเล็ก 2 ประโยค มีเนื้อความที่แย้งกันหรือแตกต่างกันในการกระทำ หรือผลที่เกิดขึ้น ตัวอย่าง
               • ฉันทำการบ้านแต่พี่เล่นเกม
               • พ่อชอบสุนัขแต่แม่ชอบแมว
          2.3 ประโยคที่มีความให้เลือก ประโยคความรวมชนิดนี้ ประกอบด้วยประโยคเล็ก 2 ประโยคและกำหนดให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งตัวอย่าง
               • เธอจะว่ายน้ำหรือเธอจะเล่นเกม
               • คุณจะดูโทรทัศน์ หรือจะฟังเพลง
          2.4 ประโยคที่มีความเป็นเหตุเป็นผลแก่กัน ประโยคความรวมชนิดนี้ประกอบด้วยประโยคเล็ก 2 ประโยค ประโยคแรกเป็นเหตุประโยคหลังเป็นผล ตัวอย่าง
               • เพราะฝนตกรถจึงติด
               • เพราะคุณแม่ป่วย ดังนั้นเธอจึงไปเที่ยวไม่ได้ 
          ข้อสังเกต
               • สันธานเป็นคำเชื่อมที่จ้ำเป็นต้องมีประโยคความรวม และจะต้องใช้ให้เหมาะสมกับเนื้อความในประโยค ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า สันธานเป็นเครื่องกำหนดหรือชี้บ่งว่าประโยคนั้นมีใจความแบบใด
               • สันธานบางคำประกอบด้วยคำสองคำ หรือสามคำเรียงอยู่ห่างกัน เช่น ฉะนั้น – จึง, ทั้ง – และ, แต่ – ก็ สันธานชนิดนี้เรียกว่า “สันธานคาบ” มักจะมีคำอื่นมาคั่นกลางอยู่จึงต้องสังเกตให้ดี
               • ประโยคเล็กที่เป็นประโยคความเดียวนั้น เมื่อแยกออกจากประโยคความรวมแล้ว ก็ยังสื่อความหมายเป็นที่เข้าใจได้
     3. ประโยคความซ้อน ประโยคความซ้อน คือ ประโยคที่มีใจความสำคัญเพียงใจความเดียว ประกอบด้วยประโยคความเดียวที่มีใจความสำคัญ เป็นประโยคหลัก (มุขยประโยค) และมีประโยคความเดียวที่มีใจความเป็นส่วนขยายส่วนใดส่วนหนึ่งของประโยคหลัก เป็นประโยคย่อยซ้อนอยู่ในประโยคหลัก (อนุประโยค) โดยทำหน้าที่แต่งหรือประกอบประโยคหลัก ประโยคความซ้อนนี้เดิม เรียกว่า สังกรประโยค อนุประโยคหรือประโยคย่อยมี 3 ชนิด ทำหน้าที่ต่างกัน ดังต่อไปนี้
           3.1 ประโยคย่อยที่ทำหน้าที่แทนนาม (นามานุประโยค) อาจใช้เป็นบทประธานหรือบทกรรม หรือส่วนเติมเต็มก็ได้ ประโยคย่อยนี้เป็นประโยคความเดียวซ้อนอยู่ในประโยคหลักไม่ต้องอาศัยบทเชื่อมหรือคำเชื่อม
ตัวอย่าง
               • คนทำดีย่อมได้รับผลดี 
               • ครูดุนักเรียนไม่ทำการบ้าน 
          3.2 ประโยคย่อยที่ทำหน้าที่เป็นบทขยายประธานหรือบทขยายกรรมหรือบทขยายส่วนเติมเต็ม (คุณานุประโยค) แล้วแต่กรณี มีประพันธสรรพนาม (ที่ ซึ่ง อัน ผู้) เชื่อมระหว่างประโยคหลักกับประโยคย่อย ตัวอย่าง
               • คนที่ประพฤติดีย่อยมีความเจริญในชีวิต 
               • ฉันอาศัยบ้านซึ่งอยู่บนภูเขา 
          3.3 ประโยคย่อยที่ทำหน้าที่เป็นบทขยายคำกริยา หรือบทขยายคำวิเศษณ์ในประโยคหลัก (วิเศษณานุประโยค) มีคำเชื่อม (เช่น เมื่อ จน เพราะ ตาม ให้ ฯลฯ) ซึ่งเชื่อมระหว่างประโยคหลักกับประโยคย่อย
ตัวอย่าง
             • ครูรักศิษย์เหมือนแม่รักลูก
             • เขาเรียนเก่งเพราะเขาตั้งใจเรียน 
     หน้าที่ของประโยค ประโยคต่างๆ ที่ใช้ในการสื่อสารย่อมแสดงถึงเจตนาของผู้ส่งสาร เช่น บอกกล่าว เสนอแนะ อธิบาย ซักถาม ขอร้อง วิงวอน สั่งห้าม เป็นต้น หากจะแบ่งประโยคตามหน้าที่หรือลักษณะที่ใช้ในการสื่อสาร สามารถแบ่งออกเป็น 4 ลักษณะ ดังนี้
          1. บอกเล่าหรือแจ้งให้ทราบ เป็นประโยคที่มีเนื้อความบอกเล่าบ่งชี้ให้เห็นว่า ประธานทำกริยา อะไร ที่ไหน อย่างไร และเมื่อไหร่ เช่น
               - ฉันไปพบเขามาแล้ว
               - เขาเป็นนักฟุตบอลทีมชาติ 
          2. ปฏิเสธ เป็นประโยคมีเนื้อความปฏิเสธ จะมีคำว่า ไม่ ไม่ได้ หามิได้ มิใช่ ใช่ว่า ประกอบอยู่ด้วยเช่น - เรา ไม่ได้ ส่งข่าวถึงกันนานแล้ว
                - นั่น มิใช่ ความผิดของเธอ 
          3. ถามให้ตอบ เป็นประโยคมีเนื้อความเป็นคำถาม จะมีคำว่า หรือ ไหม หรือไม่ ทำไม เมื่อไร ใคร อะไร ที่ไหน อย่างไร อยู่หน้าประโยคหรือท้ายประโยค เช่น
                 - เมื่อคืนคุณไป ที่ไหน มา
                 - เธอเห็นปากกาของฉัน ไหม 
          4. บังคับ ขอร้อง และชักชวน เป็นประโยคที่มีเนื้อความเชิงบังคับ ขอร้อง และชักชวน โดยมีคำอนุภาค หรือ คำเสริมบอกเนื้อความของประโยค เช่น
                - ห้าม เดินลัดสนาม
                - กรุณา พูดเบา
          สรุปการเรียบเรียงถ้อยคำเป็นประโยคความเดียว ประโยคความรวม และประโยคความซ้อน สามารถขยายให้เป็นประโยคยาวขึ้นได้ด้วยการใช้คำ กลุ่มคำ หรือประโยค เป็นส่วนขยาย ยิ่งประโยคมีส่วนขยายหรือองค์ประกอบมากส่วนเพียงใด ก็จะยิ่งทำให้การสื่อสารเกิดความเข้าใจต่อกันมากขึ้นเพียงนั้น ข้อสำคัญ คือ ต้องเข้าใจรูปแบบประโยค การใช้คำเชื่อมและคำขยาย ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงเจตนาในการส่งสารด้วย ผู้มีทักษะในการเรียบเรียงประโยคสามารถพัฒนาไปสู่การเขียน เล่า บอกเรื่องราวที่ยืดยาวได้ตามเจตนาของการสื่อสาร ดังนั้นผู้ใช้ภาษาจึงต้องศึกษาและทำความเข้าใจโครงสร้างประโยค และวิธีการสร้างประโยคให้แจ่มแจ้งชัดเสียก่อนจะทำให้การสื่อสารเกิดประสิทธิผล และสามารถใช้ภาษาสื่อสารให้เกิดความเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น






มาตราตัวสะกดไทย

มาตราตัวสะกด




     มาตราตัวสะกด หมายถึง พยัญชนะที่ประกอบอยู่ท้ายสระ และมีเสียงประสมเข้ากับสระ มาตราตัวสะกดมีอยู่ ๘ แม่ ได้แก่ แม่กง แม่กน แม่กม แม่กก แม่กด แม่กบ แม่เกย และแม่เกอว

พยัญชนะที่เป็นตัวสะกดในแต่ละมาตรา่ ได้แก่

       ๑. แม่ ก กา คำที่ไม่มีตัวสะกด (จึงไม่จัดอยู่ในมาตราตัวสะกด ๘ แม่)
       ๒. แม่ กก    (- k)  / ก / ได้แก่ ก ข ค ฆ
       ๓. แม่ กด    (- t)  / ด / ได้แก่ จ ด ต ถ ท ธ ฎ ฏ ฑ ฒ ช ซ ศ ษ ส
       ๔. แม่ กบ    (- p)  / บ / ได้แก่ บ ป พ ภ ฟ
       ๕. แม่ กน    (- n)  / น / ได้แก่ น ณ ญ ร ล ฬ
       ๖. แม่ กง      (- n)  / ง / ได้แก่ ง
       ๗. แม่ กม    (- m)  / ม / ได้แก่ ม
       ๘. แม่ เกย     (- j)  / ย / ได้แก่ ย
       ๙. แม่ เกอว   (- w)  / ว / ได้แก่ ว

มาตราตัวสะกด แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ

๑. มาตราตัวสะกดไม่ตรงรูป ๔ มาตรา ได้แก่
       ๑. แม่กก
       ๒. แม่กด
       ๓. แม่กบ
       ๔. แม่กน

๒. มาตราตัวสะกดตรงรูป ๔ มาตรา ได้แก่
       ๑. แม่กง
       ๒. แม่กม
       ๓. แม่เกย
       ๔. แม่เกอว


แม่ กง
พยัญชนะที่เป็นตัวสะกดในมาตราตัวสะกดแม่ กง คือ อ่านอย่างเสียง ง

ตัวอย่างคำที่มีตัวสะกดในมาตราตัวสะกดแม่ กง
    กองกลาง โขมง คล้องจอง คูปอง จ้องหน่อง ฉิ่ง ตะราง ตุ้งติ้ง ประลอง พิธีรีตอง มะเส็ง แมงดา รำพึง สรงน้ำ สำเนียง แสลง

แม่ กม
พยัญชนะที่เป็นตัวสะกดในมาตราตัวสะกดแม่ กม คือ อ่านออกเสียง ม

ตัวอย่างคำที่มีตัวสะกดในมาตราตัวสะกดแม่ กม
    กระหม่อม คำราม จริยธรรม ชมรม ถล่ม ทะนุถนอม ทิม ทุ่ม บรรทม บังคม เปรมปรีดิ์ พฤติกรรม ภิรมย์ แยม หยาม อาศรม

แม่ เกยพยัญชนะที่เป็นตัวสะกดในมาตราตัวสะกดแม่เกย คือ อ่านออกเสียง ย

ตัวอย่างคำที่มีตัวสะกดในมาตราตัวสะกดแม่ เกย
    กระจ้อยร่อย ข่าย ชีวาลัย ทยอย นโยบาย เนย เนื้อทราย เปรียบเปรย พระทัย โพยภัย ภูวไนย เสวย มโนมัย วินัย สาหร่าย อาชาไนย
แม่ เกอว
พยัญชนะที่เป็นตัวสะกดในมาตราตัวสะกดแม่เกอว คือ อ่านออกเสียง ว

ตัวอย่างคำที่มีตัวสะกดในมาตราตัวสะกดแม่ เกอว
    กริ้ว  ก๋วยเตี๋ยว  ข้าวยำ  ข่าวลือ  จิ๋ว  เจื้อยแจ้ว ดาวฤกษ์  ต้นงิ้ว  ท้าวไท  ทาวน์เฮ้าส์  ประเดี๋ยว  ยั่ว เลิกคิ้ว หิวข้าว  เหว  อ่าว

แม่ กกพยัญชนะที่เป็นตัวสะกดในมาตราตัวสะกดแม่กก คือ อ่านออกเสียง ก 

ตัวอย่างคำที่มีตัวสะกดในมาตราตัวสะกดแม่ กก
    โขยกเยก  จ้อกแจ้ก  จักตอก  ชาดก  ดอกบุก  ทาก  นกเงือก  ปักษา  แฝก  พักตร์ มรดก  ไม้กระบอก วิตก  สามาชิก หญ้าแพรก  เอกลักษณ์

แม่ กดพยัญชนะที่เป็นตัวสะกดในมาตราตัวสะกดแม่กด คือ อ่านออกเสียง ด 

ตัวอย่างคำที่มีตัวสะกดในมาตราตัวสะกดแม่ กด
    กระจาด  กะทัดรัด  ขนาดย่อม  ดอกพุด  นัดดา  แน่นขนัด  เพนียด  แรด  ลานวัด  สลัด  สะพัด  หวุดหวิด หูฝาด  อดออม  อดสู  เอร็ดอร่อย

แม่ กน
พยัญชนะที่เป็นตัวสะกดในมาตราตัวสะกดแม่กน คือ อ่านออกเสียง น

ตัวอย่างคำที่มีตัวสะกดในมาตราตัวสะกดแม่ กน
    กระตือรือร้น  กันแสง  ขมีขมัน  ขึ้นแท่น  คำประพันธ์  จินดา ชันษา ชุลมุน  ดูหมิ่น  ต้นหว้า  โต๊ะจีน พระชนนี

แม่ กบพยัญชนะที่เป็นตัวสะกดในมาตราตัวสะกดแม่กบ คือ อ่านออกเสียง บ

ตัวอย่างคำที่มีตัวสะกดในมาตราตัวสะกดแม่ กบ
    คาคบ  ตะขบ  ทะเลสาบ  น้ำมันดิบ  ประทับ  ผลกระทบ  พลับพลา  รสแซบ  


ชนิดของคำ

คำในภาษาไทยจำแนกได้ ๗ ชนิด คือ

๑. คำนาม
๒. คำสรรพนาม
๓. คำกริยา
๔. คำวิเศษณ์
๕. คำบุพบท
๖. คำสันธาน
๗. คำอุทาน 





คำนาม คือ คำที่ใช้เรียกชื่อคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ รวมทั้งสิ่งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต ทั้งที่เป็นรูปธรรม และนามธรรม เช่น เด็ก พ่อ แม่ นก ช้าง บ้าน โรงเรียน ความดี ความรัก ฯลฯ

คำนามแบ่งเป็น ๕ ชนิด ดังนี้

๑. สามมานยนาม คือ คำนามที่ใช้เรียกชื่อทั่วไปไม่ชี้เฉพาะเจาะจง เช่น พ่อ แม่ นก รถ ขนม ทหาร ตำรวจ ครู คน ประเทศ รัฐบาล ฯลฯ
          ตัวอย่าง
               - นักเรียนอ่านหนังสือ
               - แม่ซื้อผลไม้ในตลาด

๒. วิสามานยนาม คือ นามที่เป็นชื่อเฉพาะของคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ เช่น ครูสมศรี ประเทศไทย วันจันทร์ จังหวัดปัตตานี โรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล ฯลฯ
          ตัวอย่าง
               - โรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูลตั้งอยู่ในจังหวัดปัตตานี
               - เด็กชายวุฒิชัยได้รับรางวัลเรียนดีเยี่ยม

๓. ลักษณะนาม คือ คำนามที่ใช้บอกลักษณะของนามหรือกริยา เพื่อบอกขนาด รูปร่างสัณฐาน ปริมาณ เช่น ตัว ด้าม เม็ด หลัง ฯลฯ
          ตัวอย่าง
               - บ้านหลังนี้ทาสีสวยมาก
               - ฟันน้ำนมน้องหัก ๒ ซี่

๔. สมุหนาม คือ คำนามที่บอกหมวดหมู่ของนามทั่วไปและนามเฉพาะ เพื่อบอกถึงลักษณะที่รวมกันเป็นหมู่ เป็นพวก เช่น ฝูง โขลง กอง กลุ่ม คณะ ฯลฯ
          ตัวอย่าง
               - กองทหารรักษาการณ์อยู่ตลอดเวลา
               - ฝูงนกบินออกหาอาหารในเวชาเช้าตรู่

๕. อาการนาม คือ คำนามที่บอกกิริยาอาการหรือความปรากฏเป็นต่าง ซึ่งมีคำ "การ" "ความ"นำหน้า
          ตัวอย่าง
               - การเดินทางในครั้งนี้ปลอดภัยเป็นอย่างยิ่ง
               - ความรักทำให้คนตาบอด

- การ ใช้นำหน้าคำกริยา เช่น การเดิน การวิ่ง การพูด การเจรจา การอ่าน การทำงาน การกิน ฯลฯ
- ความ ใช้นำหน้าคำวิเศษณ์และคำกริยาเกี่ยวกับจิตใจ เช่น ความดี ความรัก ความสวย ความเจริญ ความสุข ความคิด ความฝัน ความเข้าใจ ฯลฯ



คำสรรพนาม คือ คำที่ใช้แทนคำนามที่ผู้พูดหรือผู้เขียนได้กล่าวแล้ว หรือเป็นที่เข้าใจกันระหว่างผู้ฟังและผู้พูด เพื่อไม่ต้องกล่าวคำนามซ้ำ

คำสรรพนามแบ่งเป็น ๖ ชนิด ดังนี้

๑. บุรุษสรรพนาม คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนในการพูดจา แบ่งเป็น ๓ พวก คือ
          - สรรพนามบุรุษที่ ๑ หมายถึง คำสรรพนามที่ใช้แทนตัวผู้พูด เช่น ฉัน ผม กระผม ข้าพเจ้า กู เราอาตมา ข้าพระพุทธเจ้า ฯลฯ
          - สรรพนามบุรุษที่ ๒ หมายถึง คำสรรพนามที่ใช้แทนชื่อผู้ฟัง เช่น เธอ ท่าน คุณ มึง เอ็ง ลื้อ แกใต้เท้า พระองค์
          - สรรพนามบุรุษที่ ๓ หมายถึง คำสรรพนามที่ใช้แทนชื่อผู้ที่พูดถึง หรือสิ่งที่กล่าวถึง เช่น เขา มัน แกท่าน หล่อน พระองค์ ฯลฯ

๒. ประพันธสรรพนาม คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามหรือคำสรรพนามที่อยู่ข้างหน้า และประโยค ทำหน้าที่เชื่อมประโยค ๒ ประโยคให้มีความสัมพันธ์กัน ได้แก่ คำ ที่ ซึ่ง อัน ผู้ เช่น
             ตัวอย่าง
                 - ฉันชอบคนที่มีมารยาทดี
                 - นักเรียนซึ่งนั่งอยู่ในห้องพักครูมีมารยาทดี
                 - บทเพลงอันไพเราะย่อมเป็นที่ประทับใจผู้ฟัง
                 - ครูผู้เสียสละเพื่อนักเรียนสมควรได้รับการยกย่อง

๓. วิภาคสรรพนาม คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามเพื่อแบ่งพวก หรือรวมพวก ได้แก่ คำ บ้าง ต่าง กัน
            ตัวอย่าง
                 - นักเรียนบ้างก็เล่นบ้างก็คุยในชั้นเรียน
                 - ชาวบ้านต่างช่วยกันเก็บขยะในบริเวณวัด
                 - ญาติพี่น้องนั่งคุยกัน

๔. นิยมสรรพนาม คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามที่แสดงความชี้เฉพาะเจาะจง ได้แก่ คำ นี่ นั่น โน่น เช่น
           ตัวอย่าง
                 - นี่คือโรงเรียนของฉัน
                 - นั่นเขากำลังเดินมา
                 - โน่นคือบ้านของเขาู่

๕. อนิยมสรรพนาม คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามที่บอกความไม่เจาะจง ได้แก่ คำ ใคร อะไร ไหน อย่างไร อะไร ๆ ผู้ใด ๆ ใด ๆ ซึ่งไม่ใช่คำถาม 
           ตัวอย่าง
                 - เขาชอบพูดโกหกจนไม่มีใครเชื่อเขาอีกแล้ว
                 - อะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับการได้พักผ่อน
                 - ผู้ใดไม่ต้องการก็ไม่เป็นไร

๖. ปฤจฉาสรรพนาม คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามที่มีความหมายเป็นคำถาม ได้แก่ คำ อะไร ใคร อย่างไร ทำไม ผู้ใด
           ตัวอย่าง
                 - เธอชอบเรียนอะไรมากที่สุด
                 - ใครนั่งอยู่ในห้องเรียนตอนพักกลางวัน
                 - ทำไมไม่เข้าห้องเรียน



คำอุทาน คือคำที่เปล่งออกมาเพื่อแสดงอารมณ์ ความรู้สึกของผู้พูด ซึ่งอาจเปล่งออกมาในขณะที่ตกใจ ดีใจ เสียใจ ประหลาดใจ คำอุทานส่วนมากไม่มีความหมายตรงตามถ้อยคำ แต่จะมีความหมายเน้นความรู้สึก และอารมณ์ของผู้พูดเป็นสำคัญ

คำอุทานแบ่งออกเป็น ๒ จำพวก ดังนี้ี้

๑. อุทานบอกอาการ เช่น โอ๊ย อ้าว ว๊าย โอย โอ๊ย ตายจริง คุณพระช่วย โอ้โฮ ฯลฯ
            ตัวอย่าง
                  - โอ๊ย ! เจ็บเหลือเกิน
                  - ตายจริง ! ฉันไม่น่าลืมเลย

๒. อุทานเสริมบท เช่น อาบน้ำ อาบท่า, ไปวัด ไปวา, ผ้าผ่อน, เสื้อแสง ฯลฯ
            ตัวอย่าง
                 - เด็ก ๆ สกปรกมอมแมม รีบไปอาบน้ำอาบท่าให้เรียบร้อย



คำวิเศษณ์ คือ คำที่ใช้ขยายคำนาม คำสรรพนาม คำกริยา และคำวิเศษณ์ เพื่อให้ได้ความชัดเจนยิ่งขึ้น

คำวิเศษณ์แบ่งเป็น ๑๐ ชนิด ดังนี้

๑. ลักษณวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์บอกลักษณะ ชนิด สี ขนาด สัณฐาน รส กลิ่น เสียง ความรู้สึก ได้แก่ คำ ใหญ่ เล็ก เร็ว ช้า หอม เหม็น เปรี้ยว หวาน ดี ชั่ว ร้อน เย็น ฯลฯ
             ตัวอย่าง
                  - บ้านเล็กในป่าใหญ่
                  - ผักสดมีประโยชน์ต่อร่างกาย
                  - น้องสูงพี่เตี้ย

๒. กาลวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกเวลาในอดีต ปัจจุบัน อนาคต เช้า สาย บ่าย เย็น
             ตัวอย่าง
                   - เขาไปทำงานเช้า
                   - เย็นนี้ฝนคงจะตก
                   - เราจากกันมานานมาก

๓. สถานวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกสถานที่ ระยะทาง ได้แก่ คำ ใกล้ ไกล บน ล่าง เหนือ ใต้ ซ้าย ขวา หน้า หลัง ฯลฯ
            ตัวอย่าง
                 - พี่เดินหน้า น้องเดินหลัง
                 - โรงเรียนอยู่ใกล้ตลาด
                 - แจกันอยู่บนโต๊ะ

๔. ประมาณวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกจำนวนหรือปริมาณ ได้แก่คำ มาก น้อย หนึ่ง สอง หลาย ทั้งหมด ฯลฯ
           ตัวอย่าง
                - เขาไปเที่ยวหลายวัน
                - ฉันเลี้ยงสุนัขสองตัว
                - คนอ้วนกินจุ

๕. นิยมวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกความชี้เฉพาะ ชอกกำหนดแน่นอน ได้แก่ คำ นี่ นั่น โน่น นั้น โน้น เหล่านี้ เฉพาะ แน่นอน จริง ฯลฯ

๖. อนิยมสรรพนาม คือ คำวิเศษณ์ที่แสดงความไม่ชี้เฉพาะ ไม่แน่นอน ได้แก่ คำ อะไร ทำไม อย่างไร ไย เช่นไร ฉันใด กี่ ฯลฯ
            ตัวอย่าง
                 - เขาจะไปไหนก็ช่างเขาเถอะ
                 - แม่ซื้ออะไรมาเราก็ทานได้ทั้งนั้น
                 - เธอมาทำไมไม่มีใครสนใจ

๗. ปฤจฉาวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกเนื้อความเป็นคำถามหรือความสงสัย ได้แก่
คำ อะไร ไหน ทำไม อย่างไร ฯลฯ
            ตัวอย่าง
                 - น้องทำอะไร
                 - สิ่งใดอยู่บนโต๊ะ
                 - เธอจะทำอย่างไร

๘. ประติชญาวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่ใช้ในการเรียกขานและโต้ตอบกัน ได้แก่ คำ คะ ขา ครับ ขอรับ จ๋า จ๊ะ พระพุทธเจ้าข้า ฯลฯ
            ตัวอย่าง
                 - หนูจ๋ามาหาครูหน่อยซิจ๊ะ
                 - คุณพ่อครับผมขออนุญาตไปดูหนังนะครับ
                 - หนูกลับมาแล้วค่ะ

๙. ประติเษธวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกความปฏิเสธ ได้แก่ คำ ไม่ ไม่ใช่ ไม่ได้ หามิได้ บ่ ฯลฯ
            ตัวอย่าง
                 - เขาไม่ทำการบ้านส่งครู
                 - คนพูดโกหกจริงไม่มีใครเชื่อถือ
                 - หนังสือนี้ไม่ใช่ของฉัน ฉันไม่สามารถรับได้

๑๐. ประพันธวิเศษ คือ คำวิเศษณ์ที่ประกอบคำกริยาหรือคำวิเศษณ์ เพื่อทำหน้าที่เชื่อมประโยค ให้มีความเกี่ยวข้องกัน ได้แก่ คำที่ ซึ่ง อัน อย่างที่ ชนิดที่ ที่ว่า ว่า เพราะเหตุว่า ฯลฯ
             ตัวอย่าง
                  - เขาฉลาดอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
                  - แม่ทำงานหนักเพื่อหาเงินมาเลี้ยงลูก
                  - เขาบอกว่า เขากินจุมาก




คำบุพบท คือ คำที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงคำหนึ่งหรือกลุ่มคำหนึ่งให้สัมพันธ์กับคำอื่น หรือกลุ่มคำอื่น เพื่อแสดงความหมายต่าง ๆ เช่น ความเป็นเจ้าของ ลักษณะ เหตุผล เวลา สถานที่ ประมาณ ความต้องการ เปรียบเทียบ ฯลฯ ได้แก่ คำ ใน แก่ แต่ ต่อ สำหรับ โดย ด้วย ของ แห่ง ใกล้ ไกล ฯลฯ

คำบุพบทแบ่งเป็น ๒ พวก คือ

๑. คำบุพบทที่เชื่อมโยงกับบทอื่น
    ๑.๑ บุพบทนำหน้ากรรม ได้แก่ คำ แก่ ซึ่ง
           ตัวอย่าง
                - อย่าเห็นแก่ตัว
                - เราต้องอาศัยซึ่งกันและกัน
    ๑.๒ บุพบทนำหน้าคำที่เป็นเจ้าของ ได้แก่ คำ แห่ง ของ
           ตัวอย่าง
                - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
                - หนังสือของนักเรียน
    ๑.๓ บุพบทนำหน้าคำบอกลักษณะ ได้แก่ คำ ด้วย กับ แก่ ต่อ
           ตัวอย่าง
                - ยายกินข้าวด้วยมือ
                - ครูให้รางวัลแก่นักเรียนเรียนดี
    ๑.๔ บุพบทนำหน้าคำบอกเวลา ได้แก่ คำ เมื่อ ตั้งแต่ กระทั่ง จน
            ตัวอย่าง
                - เขามาถึงบ้านเมื่อเช้านี้
                - พ่อทำงานจนเที่ยงคืน
    ๑.๕ บุพบทนำหน้าคำบอกสถานที่ ได้แก่ คำ ที่ ใน เหนือ ใกล้ จาก แต่
            ตัวอย่าง
                - เขามาแต่บ้าน
                - น้ำอยู่ในตู้เย็น
    ๑.๖ บุพบทนำหน้าคำบอกประมาณ ได้แก่ คำ ตลอด เกือบ ทั้ง ราว
           ตัวอย่าง
                - ฝนตกหนักตลอดปี
                - น้องไปโรงเรียนเกือบสาย

๒. คำบุพบทที่ไม่เชื่อมโยงกับบทอื่น ส่วนมากจะอยู่ต้นประโยค ใช้เป็นการทักทาย มักใช้ในคำประพันธ์
           ตัวอย่าง
                - ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การปฏิบัติธรรมเป็นหลักสำคัญทางศาสนา
                - ข้าแต่ พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าความเมตตาจากท่าน
                - ดูก่อน ท่านผู้เจริญ ความเมตตาต่อสรรพสัตว์เป็นสิ่งพึงกระทำ




คำสันธาน คือ คำที่ทำหน้าที่เชื่อมคำกับคำ ประโยคกับประโยคข้อความกับข้อความ หรือ ความให้สละสลวย ได้แก่ คำ และ หรือ แต่ เพราะ ฯลฯ

คำสันธานทำหน้าที่ได้ ๔ ลักษณะ ดังนี้
       ๑. ใช้เชื่อมคำกับคำ เช่น ฉันและเธอชอบเรียนวิชาภาษาไทย, เธอชอบมะลิหรือกุหลาบ
       ๒. ใช้เชื่อมข้อความ เช่น คนเราต้องการอาหาร เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคด้วยเหตุนี้ เราจึงจำเป็นต้องประกอบอาชีพเพื่อให้ได้เงินมาซื้อสิ่งจำเป็นเหล่านี้
       ๓. ใช้เชื่อมประโยคกับประโยค เช่น แม่ชอบปลูกไม้ดอกแต่พ่อชอบปลูกไม้ประดับ, น้องไปโรงเรียนไม่ได้เพราะไม่สบาย
       ๔.เชื่อมความให้สละสลวย เช่น เขาก็เป็นคนจริงคนหนึ่งเหมือนกัน, คนเราก็ต้องมีผิดพลาดบ้างเป็นธรรมดา

คำสันธานมี ๔ ชนิด คือ

๑. คำสันธานเชื่อมใจความที่คล้อยตามกัน ได้แก่ คำ กับ, และ, ทั้ง...และ, ทั้ง...ก็, ครั้น...ก็, ครั้น...จึง, พอ...ก็
        ตัวอย่าง
              - พ่อและแม่รักฉันมาก
              - ฉันอ่านทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
              - พอมาถึงบ้านฝนก็ตก

๒. คำสันธานเชื่อมใจความที่ขัดแย้งกัน ได้แก่ คำ แต่, แต่ทว่า, ถึง...ก็, กว่า...ก็
        ตัวอย่าง
             - น้องอ่านหนังสือแต่พี่ฟังเพลง
             - ถึงเขาจะปากร้ายแต่เขาก็ใจดี
             - กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้เสียแล้ว

๓. คำสันธานเชื่อมใจความที่ให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ คำ หรือ, หรือไม่ก็, มิฉะนั้น, ไม่เช่นนั้น, ไม่...ก็
        ตัวอย่าง
            - เธอจะอ่านหนังสือหรือฟังเพลง
            - เราต้องขยันเรียนมิฉะนั้นจะสอบตก
            - นักเรียนต้องช่วยกันทำความสะอาดห้องเรียนหรือไม่ก็พัฒนาเขตรับผิดชอบ

๔. คำสันธานเชื่อมใจความที่เป็นเหตุเป็นผลกัน ได้แก่ จึง, เพราะ, เพราะว่า, เพราะ.....จึง, ฉะนั้น...จึง
       ตัวอย่าง
            - นักเรียนไม่ตั้งใจเรียนจึงสอบไม่ผ่าน
            - เพราะเขาเป็นคนดีจึงได้รับการยกย่อง
            - สุพิศมีความรับผิดชอบดังนั้นจึงได้รับคัดเลือกเป็นประธานนักเรียน

ข้อสังเกต

๑. คำสันธานบางคำใช้เข้าคู่กัน เช่น เพราะ......จึง, กว่า......ก็ ฯลฯ
๒. คำสันธานอาจอยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ ของประโยค เช่น
         - อยู่ระหว่างคำ ฉันซื้อดอกกุหลาบและดอกบัว
         - อยู่หน้าประโยค เมื่อทำผิดก็ต้องถูกลงโทษ
         - อยู่ระหว่างประโยค เธอจะเล่นหรือจะเรียน
๓. ประโยคที่มีคำสันธานเชื่อมจะแยกได้เป็นประโยคย่อยตั้งแต่ ๒ ประโยคขึ้นไป
๔. คำบางคำเป็นได้ทั้งคำสันธานและคำบุพบท โดยการพิจารณาการแยกประโยคเป็นสำคัญ เช่น
         - เราทำงานเพื่อชาติ (เป็นบุพบท)
         - เราทำงานเพื่อเราจะได้สนองคุณชาติ (เป็นสันธาน)
๕. คำสันธานอาจเป็นกลุ่มคำก็ได
๖. ประพันธสรรพนาม หรือสรรพนามเชื่อมประโยค ที่, ซึ่ง, อัน จัดเป็นคำสันธานด้วย เช่น
         - สตรีผู้มีความงามย่อมเป็นที่สนใจของคนทั่วไป
         - เขาทำงานอยู่ในท้องถิ่นซึ่งห่างไกลความเจริญ
         - ชายที่ยืนอยู่นั้นเป็นทหาร